Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
watermark

ข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของจังหวัดเพชรบุรี  
 
           (1) อาณาเขต  จังหวัดเพชรบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร  ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35  ระยะทางประมาณ 123 กม. มีพื้นที่ทั้งหมด 6,225.138  ตร.กม. หรือ 3,890,711.20 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดและประเทศใกล้เคียงดังต่อไปนี้
                    ด้านเหนือ  ติดกับอำเภอปากท่อ  จังหวัดราชบุรี  และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
                    ด้านตะวันออก  ติดชายฝั่งอ่าวไทย  (น่านน้ำติดต่อตรงข้ามกับน่านน้ำจังหวัดชลบุรี  ด้านทิศใต้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ด้านทิศเหนือน่านน้ำจังหวัดสมุทรสงครามน่านน้ำจังหวัดสมุทรสาครน่านน้ำกรุงเทพมหานครและน่านน้ำจังหวัดสมุทรปราการ)
                    ด้านใต้  ติดกับอำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
                    ด้านตะวันตก ติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์(พม่า)
 
            (2) สภาพภูมิประเทศ จังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่ด้านตะวันตกเป็นป่าไม้และภูเขาสูงสลับ ซับซ้อนมีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างไทยกับพม่า เฉพาะในเขตจังหวัดเพชรบุรีมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร แม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี มีความยาวตลอดสาย 227 กิโลเมตร แม่น้ำบางกลอย  มีความยาว  44  กิโลเมตร  และแม่น้ำบางตะบูน มีความยาว 18  กิโลเมตร มีประชากรอาศัยหนาแน่นทางตะวันออกของพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล
                   
            (3) การปกครองท้องที่และท้องถิ่น  ประชากร

                 (3.1) การปกครอง  มีรูปแบบการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน 3 รูปแบบ คือ
          การบริหารราชการส่วนกลาง  ประกอบด้วยหน่วยงานสังกัดส่วนกลางซึ่งมาตั้งหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ จำนวน 75 ส่วนราชการ
          การบริหารราชการส่วนภูมิภาค  มีหน่วยราชการที่อยู่ในความควบคุมดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดคือ  ส่วนราชการต่าง ๆ ในระดับจังหวัด และอำเภอ  ส่วนราชการในระดับจังหวัดเป็นหน่วยงาน  2  ลักษณะ  คือ  หน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาคประจำจังหวัดและหน่วยราชการบริหารส่วนกลางในจังหวัด (ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง)  หน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาคประจำจังหวัดของจังหวัดเพชรบุรีมีทั้งสิ้น 33 หน่วยงาน สังกัดกระทรวง มหาดไทย 8  หน่วยงาน และสังกัดกระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ  26  หน่วยงาน
                        ระดับจังหวัด  ประกอบด้วยส่วนราชการประจำจังหวัด จำนวน 26 ส่วนราชการ
                        ระดับอำเภอ  ประกอบด้วย 8 อำเภอ 93 ตำบล 698 หมู่บ้าน
                 (3.2)  การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น 3 รูปแบบ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล  การปกครองส่วนท้องถิ่น  ประกอบด้วย  องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี  1  แห่ง 1 เทศบาล  15  แห่ง (แบ่งเป็นเทศบาลเมือง 2 แห่ง (เทศบาลเมืองเพชรบุรี และเทศบาลเมืองชะอำ) และเทศบาลตำบล 13  แห่ง) องค์การบริหารส่วนตำบล  69  แห่ง
(3.3) ประชากร  จังหวัดเพชรบุรีมีประชากรทั้งสิ้น  482,375 คน เป็นชาย 233,665  คนเป็นหญิง  248,710  คน  ความหนาแน่นของประชากรเท่ากับ  73  คน/ตารางกิโลเมตร  อำเภอที่มีประชากรมากที่สุด  ได้แก่  อำเภอเมืองเพชรบุรี  อำเภอท่ายาง  และอำเภอชะอำ อำเภอที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุด  ได้แก่  อำเภอเมืองเพชรบุรี  อำเภอบ้านแหลม  และอำเภอบ้านลาด
             (4)  ลักษณะภูมิอากาศ 
                          จังหวัดเพชรบุรีอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดเวียนเป็นประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด คือ พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว เรียกว่าฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้จังหวัดเพชรบุรีซึ่งอยู่ทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนน้อยในช่วงฤดูหนาว และมีอากาศเย็นเป็นครั้งคราวคล้ายคลึงกับภาคกลาง แต่ในช่วงต้นฤดูอาจมีฝนตกชุกได้ ส่วนมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมนี้จะพัดประจำในฤดูฝน และเป็นลมที่พัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงทำให้ประเทศไทยมีฝนตกมาก แต่เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรีอยู่หลังทิวเขาตะนาวศรีซึ่งปิดกั้นทางลมนี้ไว้จึงเป็นที่อับฝน และมีฝนตกน้อยในช่วงฤดูฝน ฝนส่วนใหญ่จะตกมากในช่วงฤดูหนาวคือระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ฤดูกาลของจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทย แบ่งออกได้ดังนี้ คือ
                         ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยมีเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบปี
                         ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทย อากาศจะชุ่มชื้นและมีฝนตกทั่วไป โดยมีฝนตกหนักในเดือนตุลาคม
                         ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น และอาจมีฝนได้ตามบริเวณชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนมีฝนตกมาก ส่วนเดือนธันวาคมและมกราคมมีฝนตกน้อยและอากาศอยู่ในเกณฑ์เย็น
                    อุณหภูมิ เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรีอยู่ทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลักษณะอากาศจึงคล้ายคลึงกับภาคกลาง แต่เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลจึงได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นจากทะเลในฤดูมรสุมตะวันออก เฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ทำให้ไม่หนาวมากในฤดูหนาว และไม่ร้อนมากในฤดูร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 23.8 องศาเซลเซียส เคยตรวจอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 39.6 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝน 1,500.10 มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตกจำนวน 121 วัน (ตั้งแต่ มกราคม 2560 –ธันวาคม 2560)

 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 140,276